วิสัยทัศน์-พันธกิจ

วัตถุประสงค์ขององค์กร

1. ส่งเสริมการจัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมาคมหรือชมรมคนหูหนวกประจำจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด 
2. ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนหูหนวก และหูตึง 
3. ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพ การมีงานทำ การศึกษา การสาธารณสุข การจัดสวัสดิการ และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้แก่คนหูหนวก และหูตึง
4. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ระหว่างคนหูหนวกและหูตึงด้วยกันเองหรือกับสังคมทั่วไป
5. ส่งเสริมการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรของคนหูหนวกทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง
6. พัฒนาภาษามือไทยและส่งเสริมให้มีการจัดบริการล่ามภาษามือ
7. ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน หรือองค์กรของคนพิการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
(กรมการปกครองจดทะเบียนแก้ไข เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2544)

การบริหารงานของสมาคมฯ

สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย บริหารงานโดยคณะกรรมการ ซึ่งมีนายกสมาคมฯ มาจากการเลือกตั้งของผู้แทนชมรมคนหูหนวกจังหวัด จังหวัดละ 2 คน คณะกรรมการบริการสมาคมฯ ประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อย 7 คน และอย่างมากไม่เกิน 15 คน โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ มีหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายการดำเนินงานและควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ โดยมีผู้จัดการสมาคมฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการรับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ในสมาคมฯ

การดำเนินงานของสมาคมฯ

แบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ฝ่ายล่ามภาษามือ

ล่ามภาษามือคือบุคคลที่ช่วยคนหูหนวกในการสื่อสาร โดยการแปลจากภาษามือเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนในกรณีต่างๆ ขณะนี้ สมาคมฯ มีล่ามภาษามือประจำ 3 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการคนหูหนวกทั่วประเทศ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิคคนพิการแห่งชาติ (พก.) จัดให้มีการจดทะเบียนล่ามภาษามือที่อยู่ในประเทศไทย และมีการจัดสรรงบประมาณการบริการล่ามภาษามือให้กับจังหวัดต่างๆ ผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำหรับในกรุงเทพฯ กำหนดให้สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานจัดบริการล่ามภาษามือในพื้นที่กรุงเทพฯ

2. ฝ่ายบริการสมาชิก

สมาคมฯ เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแก่คนหูหนวก และยังให้ความช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ โดยงานของฝ่ายบริการสมาชิก มีดังนี้
2.1   จัดทำทะเบียนสมาชิก รับสมัครและทำบัตรสมาชิก
2.2   บริการจัดหางาน
2.3   บริการล่ามภาษามือช่วยในการสื่อสารในกรณีต่างๆ เช่น พบแพทย์, พบตำรวจ เป็นต้น
2.4   จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่สมาชิก เช่น ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์
2.5   เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่คนหูหนวก โดยผ่านจุลสารสายใยโลกเงียบ, วีดีโอข่าว และจัดประชุมสมาชิก
2.6   บริการให้คำแนะนำปรึกษาแก่คนหูหนวกและครอบครัวคนหูหนวกที่มีปัญหา

3. ฝ่ายศิลป์/วีดีโอ

ลักษณะงานเป็นการผลิตสื่อศิลป์ประเภทสิ่งพิมพ์และวีดีโอภาพเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของคนหูหนวก เช่น การบันทึกการประชุม, สัมมนา. การจัดทำวีดีโอข่าวภาษามือเพื่อเผยแพร่แก่คนหูหนวกทั่วไป

4. ฝ่ายภาษามือ

4.1 การดำเนินงานเผยแพร่ภาษามือไทยขั้นพื้นฐาน มีวิทยากรคนหูหนวกที่มีความเชี่ยวชาญสอนภาษามือ เป็นการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่จัดโครงการสอนภาษามือให้กับบุคลากรในหน่วยงานนั้นๆ
4.2 ค้นคว้าและวิจัยภาษามือ เนื่องด้วยคนหูหนวกที่มาจากแต่ละกลุ่ม จะมีความยากลำบากในการติดต่อสื่อสาร เพราะภาษามือที่ใช้มีความแตกต่างกันแล้วแต่ภูมิภาค สถาบันการศึกษาบางหน่วยงานก็นำภาษามือจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานทางภาษามือในการสื่อสารกันได้ในประเทศ จึงทำให้เกิดการค้นคว้าและวิจัยภาษามือขึ้น โดยใช้ข้อมูลของภาษาท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เป็นไปตามหลักการใช้ภาษามือและภาษาสีหน้าท่าทาง การวิจัยทำโดยคนหูหนวก ซึ่งจะเข้าใจความรู้สึกและยอมรับท่าทางแสดงความหมายแต่ละคำได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชสุดาในการเข้าร่วมสัมมนาคำศัพท์ภาษามือ เช่น ภาษาทางสังคม ภาษามือทางด้านอาชีพ ภาษามือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

5. ฝ่ายฝึกอาชีพ (ปัจจุบันหยุดทำการ)

สมาคมฯ ได้ก่อตั้งสถาบันฝึกอาชีพคนหูหนวกขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2524 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านวิชาชีพแก่คนหูหนวกที่ไม่ได้รับการศึกษา โดยคนหูหนวกที่มีความรู้ความสามารถในงานช่างไม้ งานวาดภาพ งานตัดเย็บเสื้อผ้า ซิลค์สกรีน เป็นต้น ปัจจุบัน สถาบันฯ ได้เปลี่ยนชื่อจากเดิมเป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาคนหูหนวก” ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมฯ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังจัดส่งสมาชิกคนหูหนวกเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยพิจารณาจากความต้องการและความเหมาะสมของคนหูหนวกเป็นหลัก ขณะนี้ศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาคนหูหนวกได้หยุดทำการลงแล้ว เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาทุน

6. ฝ่ายการแสดง (ปัจจุบันหยุดทำการ แต่อาจรวมตัวแบบเฉพาะกิจ)

โครงการส่งเสริมกลุ่มนักแสดงคนหูหนวก จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำศิลปะการแสดงของคนหูหนวก เป็นสื่อนำความรู้และความบันเทิงสู่ชุมชน ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างคนหูหนวกกับคนทั่วไปแล้ว ยังส่งเสริมอาชีพและรายได้ของคนหูหนวกอีกด้วย ปัจจุบันการดำเนินงานของกลุ่มนักแสดงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปัญหางบประมาณสนับสนุนและขาดการฝึกซ้อมร่วมแสดง อันเนื่องมาจากต้องประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง

กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการ

1.    สมาชิกคนหูหนวกทั่วประเทศไทย
2.    โรงเรียนสอนคนหูหนวก
3.    หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
4.    องค์กรคนพิการทั้งในและต่างประเทศ
5.    ครอบครัวคนหูหนวก
6.    คนหูหนวกที่จดทะเบียนคนพิการทุกคน

แหล่งเงินทุน / ทรัพยากร

1.    รายได้ค่าบำรุงสมาชิก
2.    รายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศลของคนหูหนวก
3.    เงินสนับสนุนจากโครงการกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
4.    เงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาและองค์กรเอกชน
5.    มูลนิธิช่วยเหลือคนพิการระหว่างประเทศสวีเดน SWEDISH ORGANISATION OF HANDICAPPED INTERNATIONAL AID FOUNDATION (SHIA) และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศสวีเดน SWEDISH ASSOCIATION OF THE DEAF (SDR) (ปัจจุบันความช่วยเหลือได้สิ้นสุดลงตามระยะเวลาของโครงการ) 

แนวทาง/แผนงานพัฒนา

1.    โครงการจัดพิมพ์และเผยแพร่ภาษามือไทย (Publishing and Publicizing Thai Sign Language Books) ปัจจุบันคนหูหนวกมีปัญหาในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ดี และมีคนทั่วไปน้อยมากที่สามารถสื่อสารกับคนหูหนวกด้วยภาษามือ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการขาดแคลนล่ามภาษามือที่จะช่วยคนหูหนวกในการเข้ารับการบริการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ภาษามือไทยได้รับการสนับสนุนและเผยแพร่ในชุมชน และลดช่องว่างระหว่างคนหูหนวกและคนทั่วไปในการสื่อสาร สมาคมฯ จึงทำโครงการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือภาษามือไทย เพื่อใช้ในการเผยแพร่และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้สำหรับคนทั่วไป คนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือ ครอบครัวคนหูหนวกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนหูหนวก โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2541-2543) และได้เสนอโครงการขอรับการสนับสนุนและความร่วมมือจากสหพันธ์คนหูหนวกแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japanese Federation of the Deaf) 
2.    โครงการพัฒนาผู้นำคนหูหนวกโลก (World Deaf Leadership Program) (ปัจจุบันหยุดโครงการแล้ว) เป็นโครงการต่อเนื่องระยะเวลา 3 ปี โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกาลาเดท วิทยาลัยราชสุดา และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และได้รับทุนสนับสนุนโครงการฯ จากมูลนิธินิปปอน ประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมและสนับสนุนผู้นำคนหูหนวกในประเทศไทยให้สามารถเข่าร่วมกิจกรรมกับชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมทั้งสามารถฝึกอบรมด้านวิชาชีพให้กับกลุ่มคนหูหนวกอื่นๆ 


การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุน

ท่านที่ประสงค์จะบริจาคเงินสมทบทุนกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น สามารถติดต่อสมาคมตามที่อยู่ดังกล่าว หรือโทรศัพท์ 0 2012 7459 โทรสาร 0 2012 7461 อีเมล์ nadt.info@gmail.com
โดยบริจาคเป็น
        • เงินสด
        • เช็คขีดคร่อมในนาม “สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย” 
        • โอนผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี “สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย” สาขาคลองตัน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 02802-60253-9

และแจ้งความประสงค์ในการบริจาคพร้อมรายละเอียด ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ เพื่อสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยจะทำการออกใบเสร็จให้ท่าน ทั้งนี้ใบเสร็จฯ ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้